Tips ตรวจรับบ้านอย่างไรให้ตกหล่นน้อยที่สุด

“การตรวจรับบ้าน” ถือเป็นปราการด่านสุดท้ายที่เจ้าของบ้านใหม่ไม่ควรละเลย การใส่ใจเช็คความเรียบร้อยในส่วนต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน เพื่อให้คุณไม่ต้องหัวหมุนเมื่อพบปัญหาในภายหลัง วันนี้เรามีวิธีตรวจรับบ้านเพื่อบ้านใหม่ของคุณครับ

ขั้นตอนที่ 1 “การเตรียมอุปกรณ์”


สิ่งที่เราจะต้องตระเตรียมสำหรับการตรวจรับบ้านนั้น เราต้องมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจรับ โดยอุปกรณ์ทั่วไปได้แก่ สมุดบันทึก ปากกา กล้องถ่ายรูป และอุปกรณ์เฉพาะทาง ได้แก่ ตลับเมตร ไขควงเช็คไฟ ไม้บรรทัด ลูกปิงปอง หรือลูกแก้วหลายๆ ลูก เพื่อใช้ตรวจสอบพื้นเรียบหากไหลรวมกันไปทางไหนแสดงว่าพื้นเป็นหลุม หากจุดไหนไม่มีลูกแก้วอยู่แสดงว่าพื้นโก่ง หรืออาจจะลองลากเท้าดูว่าเรียบหรือเปล่าครับ

อุปกรณ์เสริมจากนี้ได้แก่ ชอกล์สี สำหรับวงจุดที่เป็นตำหนิ ไฟฉาย สำหรับส่องบนฝ้าเพดาน ถังน้ำ สายยาง ไว้ตรวจสอบการไหลของน้ำประปา เศษผ้าใช้ทดสอบการระบายน้ำในห้องน้ำ เหรียญ 10 บาท เพื่อใช้เคาะพื้น กับเพดาน ฟังเสียงกระเบื้องปูพื้น และกระเบื้องปูเพดานว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เป็นต้นครับ

ขั้นตอนที่ 2 “การตรวจสอบรายการเบื้องต้น”


ในการตรวจสอบรายการต่างๆ เบื้องต้นนั้น ขอแบ่งออกเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้ครับ

1. ตรวจสอบหมุดปักเขตแดนทั้งสี่ทิศ ว่าตรงตามเอกสารหรือไม่ และสอบถามกับทางพนักงานขายทันทีหากพบสิ่งผิดปกติ

2. เช็คมิเตอร์น้ำ และมิเตอร์ไฟก่อนจะโอน ตรวจสอบย้อนหลังด้วยว่ามีค่าน้ำ ค่าไฟ คงค้างเอาไว้หรือไม่

3.  จดรายละเอียดเกี่ยวกับ วิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างที่ลงนามในแบบก่อสร้าง (ชื่อ,นามสกุล,ที่ติดต่อ)

4. นำชอล์กทำเครื่องหมายไว้ ในจุดที่ต้องแก้ไข แล้วถ่ายรูปเก็บไว้ ควรระบุสถานที่และพิกัดให้ชัดเจนด้วยครับ

5. ตรวจสอบที่ดินตรงที่จะสร้างบ้านเป็นอะไรก่อนสร้าง สระน้ำ บ่อน้ำ หรือที่ดินเปล่า หากเป็นบ่อน้ำควรตรวจสอบกับทางพนักงานขายว่าทำการถมที่ดินนานแค่ไหน และมีการอัดดินให้แน่นด้วยวิธีการใด

6. สอบถามเรื่อง กำหนดการ เก็บขยะ วันเวลา โดยประมาณ รวมถึง ช่วงเวลาที่”เจ้าหน้าที่การไฟฟ้า และประปา” มาเก็บเงิน

7. ขอใบรับประกันต่างๆ ของบ้าน (ใบรับประกันการมุงหลังคา ฉีดกันปลวก แอร์ ระบบตัดไฟ ปั้มน้ำ เครื่องดูดควัน)

8. ขอแบบบ้านพิมพ์เขียว (บางโครงการอาจให้) ระบบประปา สุขาภิบาล ผังไฟฟ้า ผังฐานราก คานคอดิน แบบขยายฐานราก

9. ควรขอเป็นแบบที่มีการแก้ไขในขณะก่อสร้าง (As-Build Drawing) ด้วยจะดีที่สุดเพราะจะมีประโยชน์อย่างมากในการแก้ไขซ่อมแซม หรือต่อเติมในอนาคต

10. ควรขอรายละเอียดของ Spec เบอร์”สี”ที่ใช้ เผื่อไว้ในเวลาที่ต้องซ่อมแซมทาสีแต่งเล็ก ๆ น้อย ๆ จะได้ไม่เพี้ยนมาก (แต่ทั่วไป เวลานานๆ ไป สีจะจืดต่อให้ใช้เบอร์เดิม ก็เพี้ยนได้ครับ) ภายในบ้านควรมีกระเบื้องปูพื้นที่ใช้ในบ้าน สำรองเอา ไว้เผื่องานซ่อมเพราะหากไปซื้อทีหลังจะ หารุ่นเดิม สีเดิมไม่ได้แน่นอน

11. ตรวจนับจำนวนกุญแจให้ครบถ้วนตามสัญญา

12. ให้ความสนใจตรงรอยต่อระหว่างวัสดุกับตรงจุดที่มีการเปลี่ยนของระดับพื้นมากเป็นพิเศษอาจเป็นเพราะว่าตามจุดเหล่านั้น มีโอกาสสูงที่งานก่อสร้างมักไม่ค่อยเรียบร้อย

13. ก่อนโอนรับห้อง ต้องรอให้งานเรียบร้อยก่อนโอน!!
 
ขอบคุณที่มา http://www.infinitydesign.in.th